ประเพณีปอยส่างลอง

วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น อำเภอเวียงแหง
ประเพณีปอยส่างลอง

ประเพณีปอยส่างลอง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

ประเพณีปอยส่างลองของอำเภอเวียงแหง จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นวัฒธรรมและประเพณีที่สำคัญของชาวไทยใหญ่ในชุมชนแห่งนี้ ที่บ่งบอกถึงความเชื่อทางจิตวิญญาณและความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวไทยใหญ่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีค่อนข้างมากในอำเภอเวียงแหง ดังนั้นจึงมีการจัดประเพณีนี้ขึ้น เพื่อให้ลูกหลานเชื่อชายไทยใหญ่ ได้ทำการบวช เพื่อเป็น "ส่างลอง"

ประเพณีปอยส่างลอง หรือที่ชาวบ้านมักจะเรียกอีกอย่างว่า ประเพณีการบวชลูกแก้ว จะให้เด็กผู้ชายที่มีเชื้อสายไทยใหญ่ ที่มีอายุตั้งแต่ประมาณ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งคำว่าปอย หมายถึง งานหรือประเพณี คำว่า ส่าง แปลว่า น้อยหรือผู้บวชเป็นสามเณรแล้วลาสิกขา เป็นภาษาไทยใหญ่ ส่วนคำว่า ลอง มาจาก อลอง แปลว่า รัชทายาท หน่อกษัตริย์ หรือราชบุตร

การบวชลูกแก้วหรือส่างลองนั้น เริ่มด้วยการโกนผมของส่างลอง ให้เหลือแค่คิ้ว แต่งหน้า ทาปาก สวมใส่เครื่องประดับที่มีค่า เช่น สร้อยคอ กำไล แหวนและใช้ผ้าโพกศีรษะแบบชาวพม่า พร้อมเสื้อเชิงงอนปักดิ้นไหม นุ่งโจงกระเบนงดงาม คาดเอวด้วยเข็มขัดเงิน ผู้ที่เป็นพระอุปสมบทให้ส่างลอง เรียกว่า จองลอง และมีพี่เลี้ยงคอยปฏิบัติดูแลอย่างน้อยสามคน เรียก "ตะแปส่างลอง"

ในวันแรกของงานซึ่งเริ่มพิธีในเวลาเช้ามืด โดยพี่เลี้ยงจะนำส่างลองไปซ่อน เพื่อเรียกเงินจากเจ้าภาพ เมื่อได้เงินแล้วจะนำส่างลองขี่ขึ้นคอแล้วแห่ในขบวนพิธี โดยนำม้าเปล่า ๑ ตัวเดินนำขบวน ซึ่งถือกันว่าเป็นม้าสำหรับเจ้าเมืองขี่นำไปทำพิธีการกุศล ขบวนแห่ส่างลองจะบรรเลงด้วยฆ้อง ฉาบและกลอง และตะแปส่างลองจะเต้นตามจังหวะเพลงโยกส่ายไปมาเพื่อสร้างความสนุกครื้นเครง นำขบวนแห่ไปตามสถานที่สำคัญ เช่น ศาลหลักเมือง เจ้าอาวาสหรือญาติผู้ใหญ่ เพื่อรับศีลรับพร วันที่สองเรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ หรือวันแห่เครื่องปัจจัยไทยทานถวายพระสงฆ์ ไปตามถนนต่าง ๆ ตะแปส่างลองต้องให้ส่างลองขี่คอ และใช้ร่มทาสีทอง หรือที่เรียกว่า ร่มทีคำ ถือบังแดด ห้ามไม่ให้เท้าแตะพื้น เปรียบเหมือนส่างลองเป็นรัชทายาท ช่วงเย็นมีพิธีคำขวัญและสวดคำขวัญ เพื่อให้เห็นถึงบุญคุณของบิดาและมารดา หลังจากนั้นผู้คนที่สนิทกันเข้ามาอวยพรและพบปะสังสรรค์กันที่บ้าน วันที่สามหรือวันหลู่ ถือเป็นวันที่สำคัญ เพราะเป็นวันที่จะต้องนำเครื่องไทยทานถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ อาราธนาศีลและเปลี่ยนการแต่งกายจากชุดลำลองเป็นผ้าไตร เข้าเป็นสามเณรอย่างสมบูรณ์ มักบวชเป็นระยะเวลา 15 วัน ไปจนถึง 1 เดือนจึงจะสึกออกมา

โดยรวมแล้วปอยส่างลองหมายถึงการบวชเณรโดยเลียนแบบพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช ดังนั้นการกระทำทุกอย่างในช่วงที่เป็นส่างลองก็จะเสมือนว่าเป็นการปฏิบัติต่อกษัตริย์ ตั้งแต่การแต่งกายที่แต่งตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณ นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อมีชายเชิงงอนปักดิ้นไหม ประดับด้วยเพชรนิลจินดาทั้งสร้อย กำไล และแหวน ศีรษะสวมชฎายอดแหลมหรือโพกด้วยผ้าแพรและประดับด้วยดอกไม้ จะไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องเดินเอง เพราะจะมี "ตะแปส่างลอง" หรือ "ตะแป" เป็นพี่เลี้ยงส่วนตัวคอยดูแลให้ส่างลองขี่คอไม่ยอมให้เท้าแตะดิน มีคนคอยกางร่ม หรือ "ทีคำ" หรือร่มทองคำกางกันแดดให้ ทั้งนี้คงเป็นกุศโลบายเพื่อไม่ให้ส่างลองซึ่งยังเป็นเด็กน้อยซุกซนจนได้รับอันตรายก่อนที่จะได้บวช

โดยชาวไทใหญ่เชื่อกันว่าการบวชส่างลองนั้นมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่กว่าการบวชพระ เพราะเด็กที่บวชนั้นมีจิตใจที่บริสุทธิ์ และการบวชส่างลองถือเป็นการสนับสนุนบุตรหลานได้บรรพชาในพุทธศาสนา พ่อแม่จึงยอมเสียสละสิ่งของเงินทองเพื่อสนับสนุนให้บุตรหลานพบกับอริยทรัพย์ในพุทธศาสนา