เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2

รวมบทความต่างๆ เกี่ยวกับอำเภอเวียงแหง
เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2

เวียงแหง ตอนที่ 2
งานและประสบการณ์ คือ ชีวิต
ผมยังจำได้ดี ถึงความตื่นเต้นของพวกเราทุกๆคน ที่เมื่อ เช้าวันที่ 10 มีนาคม 2529 ที่ ร.พ.เวียงแหง ได้เปิดให้บริการผู้ป่วยเป็นวันแรก ผมยังได้ถ่ายรูปคนไข้คนแรกที่มารับบริการ ขณะทำบัตร หลังจาก 7 วันเต็ม ๆ ที่เราได้ทำการล้างและทำความสะอาดอาคาร โรงพยาบาล ทั้งตึก ซึ่งก็ไม่ได้ใหญ่โตเกินไปมากนัก เพราะเป็นอาคารชั้นเดียว ตามแบบแปลนมาตรฐานของโรงพยาบาล ขนาด 10 เตียงในยุคนั้น

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา
ผู้ป่วยคนแรกของร.พ. เวียงแหง

 เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี เวียงแหง
ทุกคนร่วมกันพัฒนาโรงพยาบาล

ประกอบกับจัดเตรียมเครื่องมืออุปรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการเตรียมการการรักษาฉุกเฉิน เนื่องด้วยเพราะ ร.พ.นี้ ตั้งอยู่ห่างไกลจากในเมืองมาก เราจึงจำเป็นต้องสามารถให้การรักษากรณีฉุกเฉินให้ได้มากที่สุด

 เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี เวียงแหง
การขนส่งผู้ป่วยจากดอยลงมา

ในคืนแรก เราก็ได้ใช้เครื่องช่วยคลอด แบบสูญญากาศดูด ที่เพิ่งแกะกล่องมาทำความสะอาดกันเมื่อตอนบ่าย ทำให้พวกเรารู้สึกสุขใจ ที่เราได้ช่วยทำคลอดเด็ก เกิดคนแรกของโรงพยาบาล

 เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี เวียงแหง
คุณหมอและพยาบาลกำลังผ่าตัดคลอดบุตร

งานในช่วงแรกๆ พวกเราจะเน้นออกไปตามหมู่บ้าน เพื่อไป แนะนำตัว ประชาสัมพันธ์โฮงยา( โรงพยาบาล) เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่า "โฮงยาเปิดแล้ว" แนะนำตัวเราเองกับชาวบ้านว่า นี่คือ "หมอใหญ่และหมอน้อย" เป็นต้น ส่วนมากจะเป็นช่วงเวลาค่ำๆ โดยมีทั้งออกไปฉายหนังกลางแปลง ผสมผสานกับการให้ความรู้เรื่องสุขภาพ มีทั้งออกไปร่วมประชุมกับชาวบ้านที่บ้านพ่อหลวง พ่อกำนัน ซึ่งผมพบว่า พยาบาลและทีมงานทั้งหมด สามารถทำงานกับชาวบ้านได้อย่างดีและน่าประทับใจ และมีหลายสิ่ง หลายอย่างที่ผมได้เรียนรู้จากน้องๆทีมงาน

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2
ชาวบ้านกำลังเข้ารับการตรวจ

งานด้านการรักษาพยาบาล ก็เป็นงานหนึ่งที่ผมเตรียมตัวไปก่อนหน้ามาก เพราะรู้ก่อนแล้วว่า การส่งต่อผู้ป่วย ค่อนข้างใช้เวลานาน และแทบเป็นไปไม่ได้เลย หากมีฝนกตกหนักๆๆติดต่อกัน การจัดเตรียมการเรื่องการผ่าตัดฉุกเฉิน จึงเป็นงานหนึ่งที่จัดความสำคัญไว้ และบ่อยครั้ง ที่ร.พ.ต้องทำผ่าตัดคลอด ผ่าตัดไส้ติ่ง ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ผมจำได้ว่า เวลาใดที่เรามีเคสผ่าตัด ทุกๆคน จะมารวมกัน ช่วยกันในห้องผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เป็นเจ้าหน้าที่ส่วนไหน ก็ตาม

 เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี เวียงแหง
กองกำลังรัฐฉานติดแนวชายแดนไทย

เพราะเวียงแหง อยู่ติดชายแดนไทยพม่า ตรงฝั่งพม่า ในช่วงเวลานั้น เป็นที่ตั้งของ "กองกำลังรัฐฉาน" หรือ SSA Shan State Army ผมเองก็ได้มีโอกาสให้การรักษา "นักรบกู้ชาติไทยใหญ่" ที่เขานำข้ามแดนมา บ่อยครั้ง ที่หนักสุดคือ โดนยิงเข้าช่องท้อง มีลำไส้ออกมาหน้าท้อง ที่เบาหน่อย ก็โดนระเบิดที่แขน ขา เพราะเหตุนี้ ผมจึงมีโอกาสได้รู้จักกับผู้นำไทยใหญ่หลายคนในยุคนั้น ได้พูดคุยถึงเรื่องที่มาที่ไป และได้ร่วมกิจกรรม กับ ชาวไทยใหญ่ หลายครั้ง ทำให้ได้ ซึมทราบความรู้สึก ของคนที่เกิดมาแล้ว ไม่มีชาติ และพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มีชาติ ให้มีที่ยืนที่อยุ่อย่างมีศักดิ์ศรี ของกลุ่มชาติพันธ์ของตนเอง การต่อสู้ของพวกเขา จนมาถึงวันนี้ ยังไม่มีทีท่า ว่าจะสิ้นสุด ยังคงเป็นภารกิจ จากรุ่นสู่รุ่น ต่อไป

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2 อำเภอเวียงแหง
ทหารจากกองกำลังรัฐฉาน

งานของหมอบ้านนอก ในยุคนั้นอีกงานหนึ่ง คือการออกหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ ที่ไม่เรียกว่าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ก็เพราะเป็นการออกไปหาชาวบ้าน ให้บริการหลายด้าน ทั้งด้าน ตรวจรักษา ให้วัคซีนป้องกันโรคในเด็ก ให้ความรู้ด้านสุขอนามัย และให้บริการวางแผนครอบครัว และให้บริการทันตกรรมด้วย ซึ่งเราจะจัดออกกัน เดือนละ 1 ครั้ง ในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ บางครั้ง ก็เป็นการออกไปในพื้นที่ป่าเขา ก็ต้องเอายาและอุปกรณ์ใส่หลังม้า หรือลา ไปค้างแรมกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุก สำหรับพวกเรา เพราะจะเหมือนเราออกไปเที่ยวตั้งแค้มป์ นอกสถานที่

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี เวียงแหง
ออกหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่

แต่ก็มีบางครั้ง ที่ ร.พ.ได้รับคำสั่ง ให้ไปสนับสนุน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอสว. ด้วยเพราะพื้นที่เวียงแหง ถือว่าเป็นถิ่นทุรกันดาร ทาง พอสว. ก็จะจัดทีมมาออกให้บริการ โดยมาทางเฮลิคอปเตอร์ มากันเป็นชุดใหญ่ ผมเอง ในฐานะที่เป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ ก็มีหน้าที่ต้องออกไปร่วม และร่วมให้บริการตรวจรักษา ทุกครั้งที่ผมไปร่วม ผมก็มักจะพูดติดตลกๆ กับ คุณหมอที่นั่งฮ. มาว่า นี่ถ้าเอางบ ที่ใช้ออก โดยฮ. และอื่นๆ มาให้ ร.พ. เวียงแหง ออก คงพอค่ายาสำหรับออกหน่วยได้ทั้งปี ไม่ทราบว่า ตอนนั้นคุณหมอ จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2
การตรวจผู้ป่วยนอกพื้นที่

โดยตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผมก็มีฐานะเป็นหัวหน้าส่วนราชการหนึ่งในกิ่งอำเภอ จึงทำให้ได้ร่วมงานกับระบอบราชการ พอจะเข้าใจความคิดของคนในระบบราชการ ที่ถูกหล่อหลอม เข้ากับระบบโบราณอย่างแนบแน่น ทุกๆต้นเดือน ผมจะได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมประจำเดือนของกิ่งอำเภอ ที่ประชุมก็จะมีข้าราชการทุกส่วนในกิ่งอำเภอ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยมีปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอเป็นประธาน และจะเป็นวันเดียว ในรอบเดือน ที่ผมจะพบเห็นข้าราชการทุกหน่วยงานในกิ่งอำเภอ เพราะหลังจากวันนั้น ที่ว่าการอำเภอจะงียบสงบ มีเพียงข้าราชการไม่กี่คน ที่ผลัดกันเฝ้าและรับเรื่องราว ต่างๆ ผมเข้าใจว่า คงเป็นปกติของสถานที่ราชการ ที่ไกลๆๆแบบนี้ แต่โรงพยายาลเวียงแหง ไม่ใช่สถานที่ราชการที่จะเป็นแบบนั้น คือโรงพยาบาล ดูจะเป็นสถานที่ราชการเดียว ที่มีบุคลากรทำงานประจำเต็มอัตรากำลัง เป็นปกติ

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2
หน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ลงพื่นที่ชุมชน

ผมยังจำได้ ครั้งหนึ่งในวันที่มีประชุมหัวหน้าส่วน มีนายตำรวจในพื้นที่ คนหนึ่งถามผมเบาๆเป็นการส่วนตัวว่า หมอไปทำอะไรผิดมา ถึงโดนย้ายมาอยู่เวียงแหง คำถามนี้ มันสะท้อนระบบราชการในเวลานั้นได้อย่างดี ในช่วงเวลานั้น ผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ส่วนใหญ่ก็จะถือบัตรที่เรียกกันว่า บัตรสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือ "บัตร ส.ป.น." หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "บัตรอนาถา" คือเป็นบัตร ที่ออกให้โดยกระทรวงมหาดไทย ผ่านทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยเมื่อมาร.พ. ก็ยื่นบัตรนี้ให้ และผู้ป่วยจะได้รับบริการฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย คนไข้อีกส่วนหนึ่ง ก็จะมาโรงพยาบาล ด้วยการถือ" บัตรสุขภาพ" โดยทางร.พ.จะขายบัตรให้รายครอบครัว และสมาชิกในครอบครัว จะได้รับสิทธิการรักษาฟรี ข้อดีของโครงการบัตรสุขภาพ คือ ให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ และร่วมบริหารเงิน "กองทุนบัตรสุขภาพประจำหมู่บ้าน" ที่แบ่งเงินส่วนหนึ่งมาจากที่ขายบัตรสุขภาพ

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2
ชาวบ้านมาเข้ารับบริการ

แต่ไม่ว่า คนไข้จะมารับบริการรักษาที่ ร.พ. ด้วยบัตร ใดๆ โดยเฉพาะบัตรผู้ป่วยอนาถา ภายใต้ระบบข้าราขการเป็นใหญ่ ในเวลานั้น (และน่าจะในเวลานี้ ด้วย)คนไข้ที่มารับการรักษา ก็มาร.พ.ด้วยจิตสำนึกแบบ มาขอรับบริการ แบบไม่กล้าต่อรอง
ต่างกันกับหลายๆปีต่อมา ที่ด้วยระบบการเมืองที่นักการเมืองมากำหนดนโยบายใหม่ๆ และเน้นเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม และการเกิดขึ้นของ "โครงการบัตรทองสามสิบบาท รักษาทุกโรค" ที่ผู้ป่วย มายื่น "บัตรทอง" ได้เปลี่ยนจิตสำนึก ให้คนไข้ โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ว่าเป็นจิตสำนึกคนไข้ ที่มารับบริการ พร้อมร่วมจ่าย ด้วยความเข้าใจในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มารับบริการ ตามสิทธิ ที่รัฐ พึงคุ้มครอง ไม่ใช่มา ไหว้วอนขอรับบริการ

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2
ชาวบ้านช่วยกันพัฒนารอบๆ บริเวณ

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2
ชาวบ้าน นักเรียน ร่วมด้วยช่วยกันในการพันฒนา

เมื่อโรงพยาบาลได้ให้บริการมาระยะหนึ่ง พอจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีระหว่างร.พ.กับชุมชน เพื่อความรักและมีส่วนร่วมในโรงพยาบาลของชุมชน พวกเราก็ได้คิดจัดกิจกรรม ชวนชาวบ้าน นักเรียน และชาวไทยภูเขา มาร่วมพัฒนาพื้นที่รอบบริเวณ และร่วมปลูกต้นไม้ในโรงพยาบาล กิจกรรมแบบนี้ ทำให้เกิดความประสาน เข้าใจกันมากขึ้น ระหว่าง รพ.และชุมชน ต้นไม้นับร้อยต้น กับคนอีกนับร้อย ที่มาช่วยกันวันนั้น เชื่อว่า คงสร้างความเข้าใจให้กับขาวบ้าน ว่า พวกเขา แท้จริง คือเจ้าของสถานที่ราชการแบบนี้

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี เวียงแหง
10 มีนาคม 2530 พิธีเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ

ในวันที่ 10 มีนาคม ปี 2530 หนึ่งปี หลังจากเราเปิดให้บริการวันแรก เราก็ได้จัดพิธี เปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ ด้วยการเชิญ ร.ม.ต. สาธารณสุข มาเป็นประธาน โดยนอกจากเป็นงานพิธีการแบบราชการแล้ว ในตอนกลางคืน เราได้จัดเวทีการแสดงด้วย
กล่าวกันว่า คืนนั้น เป็นงานรื่นเริงที่คึกคักมากสุดของกิ่งอำเภอ ในช่วงนั้น

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา ตอนที่ 2
ร.ม.ต. สาธารณสุขมาเป็นประธาน

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี เวียงแหง
การรำนก รำโตในพิธิเปิดโรงพยาบาล

ชีวิตการทำงาน ของหมอบ้านนอก อย่างผมในเวลานั้น นอกจากได้ทำงานตามวิชาชีพที่เรียนมาและสมความตั้งใจแล้ว อีกด้านหนึ่งที่ถือว่าโชคดี คือได้มีโอกาส เรียนรู้ประสบการณ์ การทำงานร่วมกับผู้คนที่แตกต่างกัน ทั้งกับบุคลากรในร.พ. ในสาธารณสุขและที่สำคัญคือกับชาวบ้าน กับชุมชน ในระดับหมู่บ้าน ในระดับที่เป็นฐานรากของสังคม อย่างแท้จริง

ประสบการณ์ชีวิตและการทำงานในช่วงนั้น ส่งผลมาถึง วิธีคิด ความเชื่อ และศรัทธา ของผม ต่อชีวิตและอุดมคติของการทำงานตราบจนถึงปัจจุบัน

ตอนต่อไป.... ผมจะเล่าถึงเรื่องเบาๆๆครับ

ขอขอบคุณ
คุณหมอพงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล
วันที่ 11 มีนาคม 2559

ที่มา: Fb.Pongsak Phusitsakul

>> อ่านตอนที่ 1 ได้ที่นี่ <<