เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา

รวมบทความต่างๆ เกี่ยวกับอำเภอเวียงแหง
เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา

เรื่องราวจากคุณหมอ 30ปี อดีตที่ผ่านมา

30 ปี ที่ผ่านมา....เวียงแหง
โพสต์ สองสามครั้ง จากนี้ เป็นต้นไป ผมตั้งใจจะเขียนเล่าประสบการณ์ ช่วงหนึ่งของชีวิตการทำงานเป็นหมออยู่โรงพยาบาลอำเภอ เนื่องในโอกาส พิเศษ ของ โรงพยาบาลที่ ครั้งหนึ่ง เมื่อ 30 ปีก่อน ผมไปเป็นหมอคนแรก และ ร.พ.กำลังจะจัดงานบุญ ในโอกาส "ครบรอบ 30 ปี ร.พ.เวียงแหง"

เวียงแหง ตอนที่ 1
เมื่อปี พ.ศ. 2528 จาก ศิริราช ผมได้ออกไปทำงานใน โรงพยาบาลอำเภอ สมความตั้งใจ ตอนนั้นได้เลือกไปอยู่ที่อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งตลอด 1 ปี ที่ได้ทำงานในฐานะแพทย์ประจำ ร.พ.ฝาง เป็นการทำงานที่มีความสุขมาก เพราะได้ใช้ความรู้ ที่เรียนมาช่วยเหลือคนไข้และสังคมอย่างเต็มที่ ในช่วงเวลานั้นเอง ผมได้รับรู้ว่ามี ร.พ.อำเภอ ขนาด 10 เตียง กำลังจะเปิดใหม่ ผมไม่ลังเลที่จะบอกกับ ผู้ใหญ่ว่าผมสนใจที่จะ ไปทำงานที่ ร.พ.ใหม่ที่ว่านี้ ด้วยเพราะข้อมูลที่ได้มาตอนนั้นคือว่า "อยู่ไกล กลางป่าเขา ถนนไม่ดี ไฟฟ้า และประปา ไม่มี" และยิ่งเมื่อผม ได้เดินทางเข้าไปดูพื้นที่ ด้วยตนเอง ผมยิ่งมีความต้องการอย่างแน่วแน่ ที่จะไปเป็นหมอที่นั่น นั่นคือ ที่ กิ่งอำเภอเวียงแหง จ.เชียงใหม่

เวียงแหงในอดีต
ถนนดินโคลนที่เดินทางค่อนข้างลำบาก

วันที่ 2 มีนาคม 2529 เป็นวันที่ผมและทีมงาน ขนของจากในเมืองเข้าพื้นที่ ตอนนั้น มีหมอ คือผม 1 คน และมี พยาบาล 5 คน พนักงานอนามัย 1 คน และมีลูกจ้างอีก 5 คน รวม 12 ชีวิต สำหรับทีมงาน รุ่นบุกเบิก ที่จะเปิด โรงพยาบาลเล็ก ๆ ขนาดจำนวนเตียง 10 เตียง ให้บริการพี่น้องประชาชน ที่มีทั้งคนไทย คนไทยใหญ่ และชาวไทยภูเขา

เวียงแหงในอดีต
เส้นทางผ่านป่าเขาและลำห้วย

การเดินทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปยัง เวียงแหง ระยะทาง กว่า 150 กม. ในยุคนั้น ใช้เวลาปกติ ประมาณ 4 ชั่วโมง จากตัวจังหวัดเชียงใหม่ เป็นถนนลาดยางถึงตัวอำเภอเชียงดาว และจาก อ.เชียงดาว ไป กิ่งอำเภอเวียงแหง จะเป็นถนนลูกรัง ที่ผ่านป่าเขา ถนนมีขึ้นเขา ลงห้วย และหากเป็นช่วงฤดูฝน ก็จะต้องใช้โซ่พันล้อรถ รถโดยสารเข้าออก มีเพียงวันละเที่ยว

เวียงแหงในอดีต
ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อในการเดินทาง

และด้วยเพราะความยากลำบากของการเดินทางของพื้นที่ ทางโรงพยาบาลจึงได้รับจัดสรร รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งในยุคนั้น ถือว่า ไม่ธรรมดาที่ โรงพยาบาลอำเภอจะได้รถ 4 WD

เวียงแหงในอดีต

เวียงแหงในอดีต
คณะทำงานบุกเบิกร.พ.เวียงแหง

ผมและทีมงาน ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2529 ถือได้ว่าเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวกันทุกคน ต่างร่วมแรงร่วมใจ ทำงานบุกเบิก ร.พ.สร้างความเชื่อมั่นและให้บริการแก่ประชาชนเวียงแหง พวกเราร่วมแรงร่วมใจ ทำงานกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อย่างไม่สนใจเรื่องค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์ส่วนตัว

เวียงแหงในอดีต

งานที่ทำ มีทั้งด้านการักษาพยาบาล การผ่าตัด การส่งเสริมสุขภาพ งานป้องกันโรคและงานสุขาภิบาล ซึ่งเมื่อมานั่งย้อนมองกลับไป ผมเชื่อว่า สิ่งที่พวกเราทำ ในยุคนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าของศรัทธา แห่งวิชาชีพสาธารณสุขอย่างแท้จริง

เวียงแหงในอดีต
สถาพพื้นที่ในสมัยนั้นยังค่อนข้างรกร้าง

ความเป็นอยู่ในปีแรก ที่เราไม่มีไฟฟ้าใช้ ตลอด 1 ปีเต็มๆ ก็ทำให้ผมได้รับรู้ถึงความมืด ที่มืดสนิทในคืนข้างแรม และคุณค่าและความสวยงาม ของแสงจันท์ในคืนข้างขึ้นเพราะ เวียงแหง เป็นกิ่งอำเภอเล็กๆ ติดชายแดนพม่า ทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันตก ของ จ.เชียงใหม่ เพราะระยะทางที่ไกลและค่อนข้างยากลำบากในการเดินทาง จึงเหมือนเป็นเมืองปิด ในป่าเขา อาหารการกิน ก็ค่อนข้างลำบาก จำได้ว่า วันไหนที่ ผมได้ยินเสียงเป่าเขาควายดังมาจากตลาดในหมู่บ้านใกล้ๆรพ. นั่นหมายความถึงว่า มีการล้มหมู มีเนื้อหมูขาย ให้มาซื้อได้

เวียงแหงในอดีต
ทีมงานหมอและพยาบาล เจ้าหน้าที่

ในความรู้สึกของผมที่มี และยังคงจำได้ดีของการทำงานในช่วงนั้น คือ ทุกๆวันคือความท้าทายและความสนุกสนานในการทำงาน แม้จะทำงานในสภาพที่จำกัด ทั้งในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล แต่ก็ถือว่า เป็นช่วงแห่งการทำงานที่ "ทำงานอย่างมีความสุข และ สนุกกับการทำงาน" อย่างแท้จริง

พรุ่งนี้ 10 มีนาคม หากนับย้อนไป เมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2529 เป็นวันที่ ร.พ.เวียงแหง ร.พ.ประจำกิ่งอำเภอเวียงแหง จ.เชียงใหม่ เปิดให้บริการตรวจรักษา วันแรก
พรุ่งนี้ จะมาเล่าต่อครับ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คุณหมอพงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล
วันที่ 9 มีนาคม 2559

ที่มา: Fb.Pongsak Phusitsakul